เกี่ยวกับเรา

ประวัติคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสสากลโดยย่อ

จากระยะเวลาเพียงหนึ่งศตวรรษครึ่ง คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสมีการเจริญเติบโตขึ้นจากกลุ่มผู้เชื่อกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน ผู้ศึกษาพระคัมภีร์เพื่อค้าหาความจริงด้วยความมุ่งมั่น ไปสู่ชุมชนผู้เชื่อกระจายไปทั่วโลกกว่า 14 ล้านคน คนเหล่านี้ยึดมั่นคริสตจักรนี้เป็นที่พำนักฝ่ายจิตวิญญาณ หลักของเชื่อของเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสเป็นมรดกความเชื่อที่ได้รับจากกลุ่มผู้ติดตามนายวิลเลี่ยม มิลเลอร์ ในยุค 1840 ชื่อ”เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส” เป็นที่รู้จักก่อนการจัดตั้งคริสตจักรเป็นองค์กรขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1860 ด้วยจำนวนโบสถ์ 125 แห่ง และสมาชิกโบสถ์จำนวน 3,500 คน

รับชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส

ระหว่าง ค.ศ. 1831 และ 1844 วิลเลี่ยม มิลเลอร์ นักเทศน์จากคริสตจักรแบ๊บติสต์ และอดีตทหารจากสงครามเมื่อ ค.ศ. 1812 ได้ประกาศข่าว”การตื่นตัวของผู้รอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง” ของพระเยซูแก่กลุ่มคริสเตียนทั่วไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากการศึกษาคำพยากรณ์ของพระธรรมดาเนียล8:14 มิลเลอร์ได้คำนวณเวลาและสรุปว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมายังโลกนี้เป็นครั้งที่สองในระหว่าปีค.ศ. 1843 และ 1844บางคนในกลุ่มผู้เชื่อเหล่านี้คำนวณและกล่าวว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมาในวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1844 เมื่อพระเยซูไม่ได้เสด็จกลับมาตามที่คาดหวัง กลุ่มผู้ติดตามมิลเลอร์ผู้ผ่านประสบการณ์ครั้งนั้นเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “การผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่”

บรรดาผู้เข้าร่วมกลุ่มผู้รอคอยพระเยซูครั้งนั้นจำนวนหลายพันคนได้ละทิ้งกลุ่มไปด้วยความผิดหวังในสิ่งที่เคยเชื่อ อย่างไรก็ตามมีบางคนในกลุ่มผู้เชื่อได้หันกลับไปศึกษาพระคัมภีร์เพื่อค้นหาเหตุผลของความผิดหวังในครั้งนั้น ไม่นานต่อมาคนเหล่านี้ได้สรุปว่าการกำหนดวันที่22 ตุลาคม นั้นถูกต้องแล้ว พวกเขาเชื่อว่าคำพยากรณ์ของพระคัมภีร์ที่กล่าวไว้ไม่ได้หมายความว่าพระเยซูจะเสด็จมายังโลกนี้ในปี ค.ศ. 1844แต่เป็นการที่พระองค์ทรงเริ่มพระราชกิจพิเศษในสวรรค์เพื่อผู้ติดตามพระองค์ คนเหล่านี้ยังรอคอยพระเยซูเสด็จกลับมาในอีกไม่ช้านี้ เหมือนกับสมาชิกคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสในอดีตที่เฝ้ารอคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์

หลังจาก “การผิดหวังครั้งใหญ่” ได้เกิดผู้นำหลายคนจากกลุ่มเล็กที่ไม่ยอมละทิ้งความเชื่อ ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มซึ่งต่อมาคือ คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส ในบรรดาผู้นำที่โดดเด่นเหล่านั้นได้แก่ เจมส์และเอเลน จี. ไว้ท์ สามี ภรรยาที่แต่งงานได้ไม่นาน

และโจเซฟ เบ็ตส์อดีตกัปตันเรือจากกลุ่ม “แอ๊ดเวนตีส” หรือผู้รอคอยการเสด็จกลับมาของพระเยซูกลุ่มเล็ก ๆ นี้ได้เจริญขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐนิวอิงแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่เกิดเหตุการณ์ “ความผิดหวังครั้งใหญ่” นั้น เอเลน จี. ไว้ท์ ยังอยู่ในวัยสาวรุ่น เติบโตขึ้นเป็นนักเขียน นักเทศน์ และผู้บริหารที่มีความสามารถพิเศษ เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิญญาณซึ่งเป็นที่วางใจของสมาชิกในครอบครัวใหญ่ของแอ๊ดเวนตีสเป็นเวลานานกว่าเจ็ดสิบปี จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1915 นับตั้งแต่เข้ารวมกลุ่มกับผู้รอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู เธอได้ยึดมั่นในความเชื่อนี้ตลอดมา มีความชื่นชมยินดีที่ได้เข้าร่วมกลุ่มกับประชากรของพระเจ้าด้วยการให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ ผ่านงานเขียนแก่ผู้เชื่อซึ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปี ค.ศ. 1860 กลุ่มผู้เชื่อที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ได้ผนึกขึ้น ตั้งชื่อว่า เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส (ผู้รอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู ถือรักษาวันที่เจ็ดเป็นวันนมัสการ)

ในปี ค.ศ. 1863 ได้จัดตั้งองค์กรคริสตจักรอย่างเป็นทางการด้วยจำนวนสมาชิก 3,500 คนระยะแรกการทำงานส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาเหนือ จนกระทั่ง ค.ศ. 1874 คริสตจักรได้ส่ง เจ. เอ็น. แอนดรูวส์ เป็นผู้ประกาศศาสนา(มิชชันนารี) คนแรกออกไปทำงานต่างประเทศ ไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ในปี ค.ศ. 1879 ส่งดร. เอช พี. ริบตัน ผู้กลับใจใหม่จากประเทศอิตาลี ไปทำงานในทวีปอาฟริกาช่วงสั้นๆ เมื่อเขาย้ายไปทำงานที่ประเทศอียิปต์ เปิดโรงเรียน แต่โครงการต้องยุติไปเพราะเหตุรุนแรงในพื้นที่ ประเทศรัสเซียเป็นประเทศแรกที่ไม่ใชคริสตจักรโปรเตสแตนท์ที่คริสตจักรส่งผู้ประกาศเข้าไปทำงาน

ในปี ค.ศ. 1886 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม1890 เรือพิทเคร์น เรือขนส่งผู้ประกาศศาสนาเดินทางไปยังหมู่เกาะแปซิฟิกได้เดินทางออกจากท่าเรือเมืองซานฟานซิสโก คริสเตียนเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสได้เข้าไปทำงานในประเทศที่ไม่มีคริสเตียนครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1894 ได้แก่ประเทศ กาน่า อาฟริกาตะวันตกและมาตาเบเลแลนด์ในอาฟริกาใต้ ในปีเดียวกันได้ส่งผู้ประกาศศาสนาไปยังประเทศในแถบอเมริกาใต้ ค.ศ. 1896 มีผู้ประกาศเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้คริสตจักรกำลังทำงานอยู่ใน 209 ประเทศ (จากจำนวน 230 ประเทศตามที่ได้รับรองโดยองค์การสหประชาชาติ) สิ่งพิมพ์ต่างๆ ได้จำทำขึ้นแจกจ่ายเป็นปัจจัยหลักทำให้คริสตจักรเติบโตขึ้น นิตยสารแอ็ดเวนท์ริวแอนซาบบาธ (ปัจจุบันชื่อ แอ็ดเวนตีสรีวิว)เป็นสื่อการพิมพ์หลักของคริสตจักรจำหน่ายในเมืองปารีส รัฐเมน

ในปี ค.ศ. 1850 นิตยสารยูธอินสตรัคเตอร์ พิมพ์ในเมืองโรเชสเตอร์รัฐนิวยอร์ค ในปี ค.ศ. 1852 และนิตยสารไชน์ออฟเดอะไทม์ พิมพ์ในเมืองโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

ในปี ค.ศ. 1874 โรงพิมพ์แห่งแรกของคริสตจักรตั้งขึ้นครั้งแรกที่เมืองแบทเทิลครีก รัฐมิชิแกน เริ่มดำเนินงานในปี ค.ศ. 1855 และเข้ารวมเป็นหน่วยงานหนึ่งของสมาคมการพิมพ์ของคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส สถาบันเพื่อการปฏิรูปสุขภาพซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในนามโรงพยาบาลแบทเทิลครีก เปิดดำเนินงานในปี ค.ศ. 1866 จัดตั้งสมาคมผู้ประกาศศาสนาจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1870 เพื่อบริการผู้รับใช้ทุกคน เครือข่ายโรงเรียนทั่วโลกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1872 และในปี ค.ศ. 1877 ได้จัดตั้งสมาคมโรงเรียนสะบาโต ในปี ค.ศ. 1903 สำนักงานใหญ่ของริสตจักรได้ย้ายจากเมืองแบทเทิลครีก รัฐมิชิแกน ไปตั้งที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. และในปี ค.ศ. 1989 ย้ายไปที่เมืองซิลเวอร์สปริง รัฐแมรี่แลนด์ เป็นศูนย์กลางของการดำเนินการขยายงานต่อไป

สิ่งแรกของคริสตจักรแอ๊ดเวนตีสในประเทศไทย

  • โรงเรียนสะบาโตครั้งแรก โรงเรียนสะบาโตแห่งแรกจัดตั้งและประชุมศึกษาพระคัมภีร์ในบ้านของนายตัน เทียม ซัว เมื่อปี ค.ศ. 1919 ดำเนินงานต่อเนื่องจนถึง ค.ศ. 1921 เมื่อเช่าบ้านที่ถนนสี่พระยาเพื่อใช้เป็นสถานที่นมัสการ
  • โบสถ์หลังแรก อาจารย์ลองเวย์ได้เช่าห้องแถวสองชั้นเพื่อใช้เป็นสถานนมัสการสะพานเหลือง ต่อมานายตัน เทียมฮี้ ถวายห้องแถวบางรักให้แก่กลุ่มคริสเตียนเพื่อใช้เป็นสถานนมัสการ เมื่อสมาชิกกลุ่มเพิ่มมากขึ้น จึงย้ายไปเช่าบ้านที่ซอยทรัพย์เพื่อใช้เป็นห้องนมัสการ ห้องเรียนสอนภาษาจีนเป็นบ้านพักของศิษยาภิบาล ใช้โรงรถเป็นห้องสมุดสาธารณะ เป็นสถานนมัสการแห่งแรกที่ใช้ชื่อว่า โบสถ์เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส และเป็นที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรกของคริสตจักร
  • บัพติศมาครั้งแรก  ศาสนาจารย์แพร็ต ประกอบพิธีบัพติศมา “ผลแรกแห่งสยาม” ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 1921 ในสวนลุมพินี มีผู้รับบัพติศมาจำนวน 4 คน ในวันเดียวกันมีพิธีมหาสนิทครั้งแรก
  • โรงเรียนแอ๊ดเวนตีสแห่งแรก โรงเรียนเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งแรกชื่อ “ซัมยก” ตั้งขึ้นที่สีพระยา มีนักเรียน 16 คน ครูหนึ่งคน จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1921
  • พิธีสมรสครั้งแรกศาสนาจารย์แพร็ตเป็นผู้ประกอบพีธีสมรสครั้งแรกของคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1928 ของอาจารย์ กอน วุย เหลียง และนางสาว ฮี ซุย เลน ทั้งสองพบกันเมื่อซุย เลน จากครอบครัวที่นับถือพุทธเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนซัมยกในปี ค.ศ. 1972 ทำให้ทั้งสองได้รู้จักกัน
  • หนังสือเล่มแรกที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส ค.ศ. 1926 ได้จัดให้มีการแปลหนังสือ “Our Day, in the Light of Prophecy” เขียนโดย ดับบลิว. เอ. สไปเซอร์ เป็นภาษาไทย (“แสงแห่งคำพยากรณ์ในสมัยของเรา“) ค.ศ. 1972 นิตยสารฉบับแรกพิมพ์เป็นภาษาไทยชื่อ “ชูชาติ” ภายมต้การดำเนินงานของอาจารย์เอเบล ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 นิตยสารฉบับนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาลาว
  • คนไทยคนแรกที่รับเชื่อเป็นเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส ภารกิจการประกาศข่าวประเสริฐในขณะนั้นอยู่ในแวดวงชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีคนไทยที่รับเชื่อ เมื่อเห็นว่าการประกาศกับคนไทยเริ่มมีความก้าวหน้า อ.แพร็ต และ อ.กอน วุย เหลียง ศิษยาภิบาลโบสถ์จีน ได้ไปปิดประชุมประกาศศาสนาที่จังหวัดนครราชสีมา นายเปล่งวิเทียมญลักษณ์ ชายหนุ่มที่แสวงหาความหมายของชีวิตได้มีโอกาสศึกษาพระคัมภีร์กับอาจารย์กอน เขาเกรงเพื่อนจะเห็นว่าเขาสนใจศาสนาคริสเตียนจึงเก็บเรื่องเงียบ ต่อมานายเปล่งได้รับเชื่อพระเจ้าและออกไปเป็นบรรณกร ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในงานด้านการพยาบาลของเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส
  • ค่ายพาธไฟเดอร์ครั้งแรก เดือนธันวาคม ค.ศ. 1962 มีการจัดค่ายพาธไฟเดอร์ครั้งแรกในประเทศไทย ณ ค่ายสภาคริสตจักร ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์กำจรศรีรัตนประภาศ หัวหน้าแผนกเยาวชนรับหน้าที่ผู้ประสานงาน อาจารย์เชสเตอร์ แดมรอน เป็นนักเทศน์ประจำค่าย มีเยาวชนพาธไฟเดอร์เข้าร่วม100 คน
  • เยาวชนไทยกลุ่มแรกไปประชุมต่างประเทศ ต้นปี ค.ศ. 1960 เยาวชนไทย (เอ็ม. วี.) หลายโบสถ์ได้เลือกผู้แทนเยาวชนเพื่อเป็นหนุ่มสาวกลุ่มแรกไปเป็นตัวแทนเดินทางไปประเทศฟิลิปินส์เพื่อร่วมประชุมเยาวชนของสำนักงานคริสตจักรภาคตะวันออกไกล (ดิวิชั่น) วันที่ 4-9 เมษายน ค.ศ. 1961 ได้แก่ ชลอ อาตมผดุงโบสถ์เชียงใหม่ ฉลี ชื่นชอบ โบสถ์อุบลฯ โสภณ ใจเกื้อ โบสถ์ภูเก็ต จักรัฐ สุขชีวิน จากโบสถ์กรุงเทพฯ ทัศนีย์ แซ่อู๋ โรงพยาบาลมิชชั่น ขิมทอง วสุเพ็ญ ศรีรัตน์ โสรัจจกุล จากโรงเรียนแอ๊ดเวนตีสเอกมัย เยาว์ ปัจฉิมรัตน์ จากอุบลฯ และตัวแทนพิเศษอีกหลายคน
  • มูลนิธิเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิแรกของคริสตจักร เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้นรัฐบาลไทยได้เลือกเข้าฝ่ายอักษะซึ่งมีญี่ปุ่นและเยอรมันนีเป็นผู้นำ ทรัพย์สินของคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสซึ่งถือว่าดำเนินการโดยมิชชันนารีอเมริกันถูกยึด ทำให้ผู้นำสหมิชชั่นมาลายันและสำนักงานมิชชั่นเห็นควรหาทางปกป้องทรัพย์สินของคริสตจักรในอนาคต ในปี ค.ศ. 1956 จึงเริ่มดำเนินการขออนุญาต ค.ศ. 1962 จัดตั้งเป็นมูลนิธิ อาจารย์กำจร ศรีรัตนประพาส เป็นประธาน
  • การเปิดประชุมประกาศศาสนาในกรุงเทพฯครั้งแรก ครั้งแรกที่คริสตจักรในประเทศไทยที่จัดให้มีการประกาศศาสนาในกรุงเทพฯ เป็นเวลาสามสัปดาห์ ในหอประชุมสวนลุมพินี เริ่มเมื่อวันที่ิ 28 เมษายน 1964 อาจารย์สันติ โสรัจจกุล เป็นนักเทศน์ อาจารย์เวสเตอร์ แดมรอนเป็นผู้ดำเนินการ เจ้าหน้าที่ ครูและสมาชิกโบสถ์ร่วมมือในการแจกใบปลิว นายแพทย์ แอล. จี. ลัดดิงตัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมิชชั่น นายแพทย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด นำเสนอรายการเกี่ยวกับด้านสุขภาพ มิสซิสเฮเลน สเปรงเกล เป็นหัวหน้าคณะนักร้อง
  • สร้างตึกสำนักงานมิชชั่นและโรงพิมพ์ คริสตจักรจัดตั้งมิชชั่นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1919 ใช้อาคารบ้านพักของอาจารย์ เอฟ. เอ. แพร็ต เป็นที่ทำงาน ต่อมาในปี ค.ศ. 1932 เมื่ออาจารย์ เอ. พี. ริตส์ รับตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานจึงย้ายไปที่บ้านพักของท่านที่ถนนสุริวงศ์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองสำนักงานย้ายไปอยู่ที่บ้านอาจารย์ วี. แอล. กอน ในปี ค.ศ. 1947 หลังจากการก่อสร้างอาคารโรงเรียนของมิชชั่นเสร็จ ได้ใช้อาคารเรียนเป็นที่ทำการ จนกระทั่งไฟไหม้อาคารเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1952 จึงย้ายไปตั้งที่ชั้นหนึ่งของตึกสูติกรรม โรงพยาบาลมิชชั่นเป็นการชั่วคราวสำนักงานภาคตะวันออกไกลและสหมิชชั่น มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1961 ให้สร้างสำนักงานมิชชั่นและโรงพิมพ์บนที่ดินเอกมัยกรุงเทพฯ วันที่ 25 กรกฎาคม 1962 นายฟลอยด์ วิตติงตัน ผู้แทนจากสถานฑุตอเมริกัน กล่าวสุนทรพจน์และเป็นประธานพิธีเปิดอาคารวันที่ 9 มิถุนายน 1963 มีพิธีเปิดโรงพิมพ์ มิสเตอร์ อี. เอ. เพนเดอร์ เป็นผู้จัดการคนแรก หนังสือสองเล่มแรกที่จัดพิมพ์ขึ้นคือ “Guardian of Health” (คู่มือรักษาสุขภาพ) และหนังสือ “สันติวิถี
  • สมาชิก 500 คนแรก และ 1000 คนแรก คริสตจักรเริ่มต้นด้วยสมาชิก 14 คน ในปี ค.ศ. 1919 เวลานาน 18 ปี สมาชิกโบสถ์เซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีส เพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1947 เป็น 100 คนในปี 1958 เพิ่มขึ้นเป็น 500 คน และเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1964 เพิ่มขึ้นเป็น 1000 คน ในวันนี้มีผู้รับบัพติศมาทั่วประเทศ 23 คน
  • โรงเรียนประจำแห่งแรกของคริสตจักร อาจารย์จอห์น ดิ๊บดอล ได้เริ่มเปิดโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ค.ศ. 1971 เป็นโรงเรียนประจำมีหอพักสำหรับผู้เรียน เดือนพฤษภาคม 1974 อาจารย์ชลอ อาตมาผดุง เริ่มการทำงานเพื่อจัดตั้งโรงเรียนมัธยม “เชียงใหม่มัธยม”มีหอพักประจำสำหรับนักเรียนบุตรหลานสมาชิกในพื้นที่เดียวกัน เปิดทำการเมื่อเดือนพฤษภาคม 1974 โรงเรียนทั้งสองแห่งรวมเข้าเป็นสถาบันเดียวกันเมื่อ ค.ศ. 1980 อาจารย์นงนุช แบสซั่ม เป็นผู้อำนวยการ
  • ผู้แทนคนไทยคนแรกเข้าร่วมประชุมของคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสสากล ในปี ค.ศ. 1946 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สำนักงานคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสสากลได้จัดให้มีการประชุมครบรอบสี่ปีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คุณเปล่ง วิเทียมญลักษณ์ ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนจากคริสตจักรในประเทศไทย เป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ของคริสตเตียนเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมของคริสตจักรสากล การเดินทางด้วยเครื่องบินทหาร หยุดแวะระหว่างทางในหลายประเทศ การเดินทางใช้เวลาทั้งสิ้นแปดวันจึงถึงประเทศสหรัฐ และใช้เวลายี่สิบวันเดินทางกลับประเทศไทยทางเรือ คุณเปล่งได้มีโอกาสเล่าเรื่อง พระราชกิจของพระเจ้าในประเทศไทยแก่ที่ประชุมฟัง ระหว่างเดินทางกลับคุณเปล่งแวะที่ประเทศเวียดนามและได้ประสบกับการต่อสู้ระหว่างคนเวียตนามกับทหารฝรั่งเศส สามารถหลบหนีรอดพ้นอันตราย เมื่อเดินทางไปถึงสิงคโปร์ก็พบกับสภาพความหายนะซึ่งเกิดจากผลของสงครามโลกอย่างน่าตกใจ ประชาชนนับพันๆ คนเดินไปตามถนนขออาหารด้วยความหิวโหยในที่สุดคุณเปล่งก็ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยด้วยความปลอดภัย โดยเรือของประเทศเดนมาร์ก หลังจากได้พบประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นอย่างไม่มีวันลืมระยะเวลาหนึ่งร้อยปีนับจากมิชชั่นนารีคนแรกผู้มีใจปรารถนาจะหว่านเมล็ดแห่งความจริงได้ทำให้คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสกำเนิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาคริสตจักรในประเทศไทยเผชิญทั้งความเจริญก้าวหน้าและภาวะถดถอย พระเจ้ายังทรงนำให้คริสตจักรก้าวต่อไป เราทั้งหลายจึงต้องให้ภารกิจนี้สำเร็จ เพื่อข่าวประเสริฐจะประกาศไปทุกทิศทั่วประเทศไทย การท้าทายของคริสตจักรที่ต้องเผชิญต่อไปก็คือ การเพิ่มขึ้นของพลเมืองและสังคมเสรีที่ต้องนำวิธีการประกาศที่เหมาะสมมาใช้ดำเนินงาน สมาชิกคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสทุกคน พึงรับความท้าทายนี้เพื่อประกาศข่าวประเสริฐ โดยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้าจนกว่าพระองค์เสด็จกลับมา